ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากผู้ป่วย Covid-19 รักษาธาลัสซีเมีย เคสแรกสำเร็จ

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

เนื่องจากมีผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้ต้องคิดค้นวิธีรักษากันอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีแพทย์จากรามาทดลองปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ จากผู้ป่วยโควิด-19 มารักษาคนที่เป็นธาลัสซีเมีย เคสแรกของโลกสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมด้วย มูลนิธิรามาธิบดี ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เผยความสำเร็จ ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนเคสแรกของโลก จากเด็กชายศิลา บุญกล่อมจิตร (น้องจีโอ้) ผู้บริจาคไขกระดูกวัย 5 ขวบ ขณะติดเชื้อโควิด-19 เพื่อรักษาเด็กหญิงจินตนาการ บุญกล่อมจิตร (น้องจีน) พี่สาววัย 7 ขวบ ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่กำเนิด ตอกย้ำความเป็นเลิศทางการแพทย์ และก้าวสำคัญของรามาธิบดีในฐานะโรงเรียนแพทย์ที่พึ่งของผู้ป่วย
“ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง” แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เคสนี้มีความท้าทาย และซับซ้อน โดยในวันที่ต้องเก็บสเต็มเซลล์น้องจีโอ้ กลับตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 น้องจีโอ้จึงอยู่ในฐานะผู้ป่วยอีกคน อีกทั้งผู้ป่วยสองคนยังอายุน้อยด้วยกันทั้งคู่คือ 5 และ 7 ขวบ ทุกขั้นตอนจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
“การจัดเก็บสเต็มเซลล์จากไขกระดูกจึงมีความเสี่ยงหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงของสเต็มเซลล์ที่ได้จะมีเชื้อโควิด-19 รวมถึงขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้องจีโอ้ต้องถูกกักโรค และส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ที่เป็นศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในขณะที่น้องจีนยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงขณะปฏิบัติหน้าที่อีกด้วย ซึ่งเคสนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกในโลกสำหรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อย่างเร่งด่วนจากผู้ป่วยโควิด-19”นอกจากความเสี่ยงของเชื้อโควิด-19 แล้ว การทำงานของคณะแพทย์ยังต้องแข่งกับเวลา เนื่องจากน้องจีนได้เข้ากระบวนการเตรียมความพร้อมของร่างกายด้วยการรับเคมีบำบัดหรือคีโมจนครบเรียบร้อยแล้ว ร่างกายจึงมีภูมิคุ้มกันต่ำ และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในเวลานั้น
“ศ.นพ.อุษณรัสมิ์ อนุรัฐพันธ์” แพทย์ผู้ดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อาจารย์สาขาวิชาโลหิตวิทยา และมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าว“การหาสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคใหม่ให้พี่จีนขณะนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสเต็มเซลล์ที่เข้ากันได้ในผู้บริจาคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางพันธุกรรมมีน้อยมาก คิดเป็นอัตราส่วน 1 ใน 20,000-50,000 ราย ซึ่งต้องใช้เวลา สเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้จึงเป็นความหวังเดียว ทีมแพทย์ได้ประชุม และร่วมกันพิจารณาอย่างรอบครอบ จนมั่นใจแล้วว่าโอกาสสำเร็จในเคสนี้มีมากกว่าความเสี่ยง จึงตัดสินใจดำเนินการเจาะไขกระดูกเพื่อเก็บสเต็มเซลล์ของน้องจีโอ้ทันที”
วินาทีที่เราตรวจสเต็มเซลล์ที่ได้ว่าเป็นสเต็มเซลล์ปลอดเชื้อโควิด-19 และการปลูกถ่ายไปยังพี่จีนประสบผลสำเร็จ จึงไม่เพียงเป็นความน่ายินดีที่เราสามารถช่วยชีวิตคู่พี่น้องได้อย่างปลอดภัย แต่นี่ยังถือเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการรักษาผู้ป่วยที่น่าภาคภูมิใจของการแพทย์ไทยอีกด้วย”
“พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ” ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ ในฐานะองค์กรการกุศล กล่าวว่า มูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งมั่นจะเป็นที่พึ่งของคนไทยทุกคนให้พ้นจากความเจ็บป่วย สนับสนุนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลให้ประชาชนทุกระดับได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน และเป็นไปอย่างทั่วถึง

COVID-19 คืออะไร ?
โรค COVID-19 คือ โรคติดเชื้อจากไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งพบการระบาดในช่วงปี 2019 ที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน โดยในตอนนั้นเราจะรู้จักกันโรคนี้ในชื่อว่า ไวรัสอู่ฮั่น ก่อนที่ภายหลังจะระบุเชื้อก่อโรคได้ว่าเป็นเชื้อในตระกูลโคโรนาไวรัส แต่เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น ทางองค์การอนามัยโลก จึงได้ตั้งชื่อโรคติดต่อชนิดนี้ใหม่อย่างเป็นทางการ โดยมีชื่อว่า COVID-19 เพื่อไม่ให้เกิดรอยมลทินกับพื้นที่ที่เกิดการระบาดของโรคด้วย

โคโรนาไวรัส เชื้อนี้มีมานาน และหลายสายพันธุ์
โคโรนาเป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินระบบหายใจ มีมานานกว่า 60 ปี แล้ว และจัดเป็นเชื้อไวรัสตระกูลใหญ่ที่มีอยู่หลายสายพันธุ์ โดยชื่อโคโรนาก็มีที่มาจากลักษณะของเชื้อไวรัสที่รูปร่างคล้ายมงกุฎ ( Corona เป็นภาษาละตินที่แปลว่ามงกุฎ ) เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้มีสารพันธุกรรมเป็น RNA มีเปลือกหุ้มด้านนอกที่ประกอบไปด้วยโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ไขมันเป็นปุ่ม ๆ ยื่นออกไปจากอนุภาคไวรัส อธิบายง่าย ๆ คือเป็นเชื้อไวรัสที่มีหนามอยู่รอบตัว จึงสามารถเกาะตัวอยู่ในอวัยวะที่เป็นเป้าหมายของเชื้อไวรัสได้
โคโรนาไวรัสเป็นเชื้อที่ก่อโรคได้ทั้งในคน และสัตว์ เนื่องจากตัวไวรัสมีสารพันธุกรรม RNA ซึ่งมีโอกาสกลายพันธุ์สูง สามารถติดเชื้อข้ามสปีชีส์กันได้ โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีการรวมตัวของสัตว์อย่างหนาแน่น เช่น ตลาดค้าสัตว์ เป็นต้น ดังนั้นต้นตอการแพร่ระบาดของโรคก็อาจจะมาจากสัตว์ปีก เช่น นก ค้างคาว ไก่ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ม้า วัว แมว สุนัข กระต่าย หนู อูฐ รวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานอย่างงู เป็นต้น
จริง ๆ แล้วเราเจอกับโคโรนาไวรัสกันอยู่เนือง ๆ เพราะอย่างที่บอกว่าโคโรนาไวรัสมีอยู่หลายสายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง เป็นเพียงไข้หวัดธรรมดา แต่ก็มีโคโรนาไวรัสบางสายพันธุ์ที่ก่ออาการรุนแรงจนถึงขั้นปอดอักเสบได้ เช่น โรคซาร์ส ที่มีสาเหตุมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ SARS-CoV ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวมาสู่ตัวชะมด แล้วมาติดเชื้อในคน และโรคเมอร์ส ที่มีสาเหตุมาจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ MERS-CoV ข้ามสปีชีส์จากค้างคาวสู่อูฐ และมาติดเชื้อในคน และล่าสุดกับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่ก่อโรค COVID-19 ซึ่งเป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่แกะกล่อง
โดยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า SARS-CoV-2 เป็นเชื้อไวรัสลำดับที่ 7 ในตระกูล coronaviruses lineage B จีนัส betacoronavirus ที่ก่อให้เกิดโรคในคน

โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ระบาดในคนได้อย่างไร ?
โคโรนาไวรัสเป็นเชื้อที่ไม่สามารถอยู่เดี่ยว ๆ ได้ แต่จะแฝงตัวอยู่ในละอองฝอยจากการไอ จาม และสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย หรืออุจจาระ ดังนั้นการแพร่เชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดก็ต้องได้รับเชื้อผ่านการสูดดมละอองฝอยขนาดใหญ่ และละอองฝอยขนาดเล็กในอากาศ รับเชื้อเข้าไปในทางเดินหายใจ หรือใครที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยในระยะ 1-2 เมตร ก็อาจจะติดเชื้อจากการสูดฝอยละอองขนาดใหญ่ และฝอยละอองขนาดเล็กจากการไอ จาม รดกันโดยตรง หรือหากอยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อในระยะ 2 เมตรขึ้นไป ก็อาจติดเชื้อจากการสูดฝอยละอองขนาดเล็กได้เหมือนกัน
นอกจากนี้โคโรนาไวรัส สายพันธุ์ใหม่ ยังอาจแพร่เชื้อโดยการสัมผัสได้ เช่น การจับของใช้สาธารณะร่วมกัน แล้วมาสัมผัสเยื่อบุต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ขยี้ตา สัมผัสปาก หรือหยิบของกินเข้าปาก เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก prachachat

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

0
    0
    Your Cart
    Your cart is emptyReturn to Shop