สเต็มเซลล์ ใช้รักษาโรคใดได้บ้าง

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

ปัจจุบันนานาประเทศ มีความพยายามในการศึกษาและนำความรู้ที่ได้ จากการวิจัยเกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคต่าง ๆ ในมนุษย์ แต่จากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่เป็นที่ยอมรับ ณ ขณะนี้ ยังคงจำกัดการรักษาเฉพาะในบางโรคเท่านั้น

สเต็มเซลล์กับโรคเลือด
ศ.นพ.วันชัย วนะชิวนาวิน นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคเลือดนับเป็นโรคกลุ่มเดียวในปัจจุบันที่มีการศึกษาหรือหลักฐานที่ชัดเจน และเชื่อถือได้ว่าการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดมีประโยชน์หรือได้ผลดี
โดยหลักการรักษาคือ ให้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (hematopoietic stem cell) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากญาติที่เป็นพี่หรือน้องของผู้ป่วย และที่เข้ากันได้กับผู้ป่วยไปทดแทนเซลล์เม็ดเลือดของผู้ป่วยที่ผิดปกติหรือที่พร่อง/ขาดหายไป ได้แก่ โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรง โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของพี่หรือน้องของผู้ป่วยมาให้ผู้ป่วยเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงที่ปกติแทนเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของผู้ป่วย โรคไขกระดูกฝ่อ โดยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของพี่หรือน้องผู้ป่วยเพื่อทดแทนเซลล์ต้นกำเนิดเดิมของผู้ป่วยที่พร่องหรือขาดหายไป และโรคมะเร็งเม็ดเลือดบางชนิด ได้แก่ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนิดเฉียบพลัน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งของไขกระดูกชนิด multiple myeloma
โดยส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้แก่ผู้ป่วย หลังจากรักษาผู้ป่วย (ด้วยยาเคมีบำบัด) จนเซลล์มะเร็งเหลือน้อยมาก และใช้การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากพี่หรือน้องของผู้ป่วย หรือในบางกรณีเป็นสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเอง เพื่อทดแทนเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดเดิมของผู้ป่วยที่พร่องไปหลังจากให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงหรือการฉายแสง

สเต็มเซลล์ กับโรคหัวใจ
นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมี นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า บทบาทของ Stem Cell ในผู้ป่วยโรคหัวใจ ในปัจจุบันแนวทางเวชปฏิบัติยังไม่ได้กำหนดให้นำสเต็มเซลล์มาใช้เป็นมาตรฐานในการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจทั้งชนิดเฉียบพลัน ชนิดเรื้อรัง และภาวะหัวใจล้มเหลว ด้วยเหตุผลเป็นการศึกษาเฟส 3 ที่ไม่ลดอัตราการเสียชีวิตที่ชัดเจน จำนวนผู้ป่วยที่ศึกษาไม่มากพอ การติดตามผู้ป่วยเพียงระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 6-12 เดือน และยังไม่มีมาตรฐานที่ตกลงร่วมกันในระดับสากลในเรื่องของชนิด ขนาด วิธีการ การเตรียมเซลล์ และเวลาที่จะให้สเต็มเซลล์ ซึ่งการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจยังคงต้องอาศัยการวิจัยในอนาคตต่อไป

สเต็มเซลล์ กับโรคไต
น.อ.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การรักษาโดยใช้สเต็มเซลล์ถือเป็นอีกความหวังของการรักษาเพื่อฟื้นฟูการทำงานของไตทั้งในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลัน และโรคไตเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไตเป็นอวัยวะขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน โดยโครงสร้างพื้นฐานและหน่วยทำงานพื้นฐานประกอบด้วยเซลล์หลายชนิดที่มีความแตกต่างกัน แต่ต้องทำงานสอดคล้องกันให้ได้เป็นอย่างดี โดยมีการจัดระเบียบของแต่ละเซลล์อย่างเป็นระบบจนรวมกันเป็นอวัยวะ การใช้สเต็มเซลล์เพื่อรักษาโดยการฉีดเข้าไปในเนื้อไตจึงไม่อาจทำนายได้ว่าเซลล์นั้นจะพัฒนากลายเป็นเซลล์ชนิดใดของหน่วยไต และทำงานเข้ากับระบบเดิมหรือไม่ การรักษาด้วยสเต็มเซลล์จึงมีข้อจำกัดมาก ทั้งการบริหารเข้าสู่ร่างกายด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการฉีดเข้าไปในเนื้อไตโดยตรงก็จะไม่ได้ผล เพราะเซลล์ที่ให้เข้าไปจะไปติดอยู่ที่รูกรองของหน่วยไต จึงเป็นข้อจำกัดสำหรับการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ในโรคไตหลาย ๆ ชนิด
จากปัญหาดังกล่าวทำให้การวิจัยในสัตว์ทดลองและในมนุษย์โดยใช้สเต็มเซลล์ที่มีต้นกำเนิดต่าง ๆ กันในโรคไตชนิดต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันพบว่าไม่ได้ผลหรือได้ผลที่ไม่ดีนักเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งมีรายงานการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา ดังนั้น ในปัจจุบันการรักษาโดยการให้สเต็มเซลล์เข้าไปในตัวผู้ป่วยโรคไตจึงยังไม่ได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ให้เป็นการรักษามาตรฐาน การใช้สเต็มเซลล์ในผู้ป่วยโรคไตจึงเป็นเพียงงานระดับวิจัยที่ต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการจริยธรรมของแพทยสภาเท่านั้น

สรุปแล้ว ทั่วโลกยังไม่มีการกำหนดแนวทางการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ไว้ในแนวทางเวชปฏิบัติของแพทย์สำหรับรักษาโรคต่าง ๆ ยกเว้นโรคทางโลหิตวิทยา 5 โรค ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็ง multiple myeloma และโรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซีเมีย เพราะการนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาอย่างไม่ถูกต้อง อาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยที่ได้รับสเต็มเซลล์ อาจเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด มีการปนเปื้อนของสารเคมี สารโปรตีนแปลกปลอม เชื้อโรค หรือเซลล์แปลกปลอมในระหว่างกระบวนการ เตรียมสเต็มเซลล์ที่ไม่ถูกวิธีขอบคุณข้อมูลจาก wongkarnpat

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

0
    0
    Your Cart
    Your cart is emptyReturn to Shop