สเต็มเซลล์ สามารถรักษาโรคทางโลหิตวิทยา ได้ไหม

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

ปัจจุบันมีการพัฒนา สเต็มเซลล์ ( Stem Cell ) อยู่เรื่อย ๆ ทั้งในไทย และต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้มีการเปิดเผยว่าสามารถรักษา โรคทางโลหิตวิทยาได้แล้ว ซึ่งบทความนี้จะบอกรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับ สเต็มเซลล์ ลองมาติดตามกันได้
จากการที่กระแส สเต็มเซลล์ ( Stem Cell ) MSCs มาแรงทำให้ทาง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ออกมาเตือนประชาชนว่า สเต็มเซลล์เป็นธุรกิจขายฝัน เพราะแนวทางการรักษาส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นวิจัยทดลอง ขณะที่การรักษาโรคทางอายุรกรรม ได้ผลเฉพาะ 5 โรคทางโลหิตวิทยา ห่วงใช้ผิดวิธีเกิดผลกระทบร้ายแรง หลังพบรายงานผู้ป่วยทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นโรคมะเร็งตามมาจากกระบวนการเตรียมสเต็มเซลล์ไม่ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 6 ก.ย. ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ร่วมด้วยสมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์ 5 แห่ง อันประกอบด้วย สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย และสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมแถลง เรื่อง “แนวทางการใช้สเต็มเซลล์ในการรักษาโรคทางอายุรกรรม”หลังพบความนิยมประชาชนใช้รักษาโรคมากขึ้น แต่ขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง
นพ.เกรียง ตั้งสง่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน เทคโนโลยีทางการแพทย์มีความพัฒนามากขึ้นแล้ว โดยเฉพาะการค้นคว้าวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับเซลล์ต้นกำเนิด หรือ สเต็มเซลล์ (stem cell) MSCs ซึ่งมาจากหลายแหล่ง เช่น เซลล์ของตัวอ่อนของทารก และ เซลล์เนื้อเยื่อต่าง ๆ ของมนุษย์ ที่ผ่านมาจึงมีความพยายามนำผลศึกษาที่ได้จากการวิจัย มาพัฒนาเพื่อใช้รักษาโรคต่าง ๆ ในมนุษย์ ซึ่งแม้ว่านานาประเทศจะมีการศึกษา เกี่ยวกับสเต็มเซลล์มาหลายสิบปี
แต่อย่างไรก็ตาม ทางราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ และ สมาคมวิชาชีพด้านอายุรศาสตร์ ได้ยืนยันว่า จากองค์ความรู้ในปัจจุบันมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า ยังคงจำกัดการรักษาเฉพาะการนำสเต็มเซลล์ ที่ได้จากเซลล์ไขกระดูกของผู้ป่วยเอง หรือจากพี่น้อง ของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบโลหิตวิทยา 5 โรค คือ โรคมะเร็งโลหิตขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งมัลติเพิลมัยดิโลมา (multiple myeloma) และ โรคโลหิตจางพันธุกรรมธาลัสซิเมีย ซึ่งผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิการรักษา
ในการใช้สเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคอื่น ๆ เช่น การยืดชีวิต ชะลอความเสื่อมสมรรถภาพของอวัยวะ หรือ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยอย่างได้ผลในระยะยาวนั้น ยังไม่มีข้อบ่งชี้หรือผลการศึกษาที่ยืนยันได้ชัดเจน โดยเฉพาะโรคที่เกิดจากความเสื่อมของอวัยวะ อันเนื่องมาจากจากความชราหรือจากโรคดั้งเดิม เช่น ความเสื่อมของสมอง หัวใจ ไต ขณะนี้องค์กรวิชาชีพแพทย์เฉพาะทางทั่วโลก ยังไม่มีการกำหนดแนวทางรักษาด้วยสเต็มเซลล์ไว้ในเวชปฏิบัติ ยกเว้น โรคทางโลหิตวิทยา 5 โรค ข้างต้น
นพ.เกรียง กล่าวว่า “การใช้สเต็มเซลล์มารักษาอย่างไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดโทษกับผู้ป่วยมากกว่า เพราะผู้ป่วยอาจเกิดอาการแพ้ เกิดการอุดตันของหลอดเลือด มีการปนเปื้อนของเชื้อโรค สารเคมีสารโปรตีนแปลกปลอม หรือ เซลล์แปลกปลอม ในระหว่างกระบวนการเตรียมสเต็มเซลล์ที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งจากรายงานการใช้สเต็มเซลล์อย่างไม่ถูกต้อง ทั้งในผู้ป่วยคนไทย และ ต่างประเทศ พบว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งชนิดร้ายแรงตามมา หลังเข้ารับการรักษา”ในปัจจุบัน มีการนำสเต็มเซลล์อย่างมาก ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ แต่เนื่องจากผู้ป่วยตั้งความหวังกับผลลัพมากเกินไป ซึ่งเกินกว่าองค์ความรู้ทางการแพทย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงเกิดช่องว่างระหว่างผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ซึ่งแม้แพทย์บางคนอาจมีแนวความเชื่อว่า สเต็มเซลล์สามารถใช้รักษาได้ผลดี ในขณะที่บางคนก็รู้ว่ารักษาไม่ได้ผล ตรงนี้จึงถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลักมาตรฐานวิชาชีพ และจรรยาบรรณ ดังนั้น จึงขอแสดงจุดยืนว่า แพทย์ไม่ควรนำสเต็มเซลล์มาใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคต่าง ๆ นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ สำหรับการรักษาโรคระบบโลหิตวิทยา 5 กลุ่มโรค
ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือด ให้แก่ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย ที่มีอาการขั้นรุนแรง ทำได้โดยนำเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของพี่ หรือน้อง หรือคนในครอบครัวที่เข้ากันได้ มาให้ผู้ป่วยเพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงที่ปกติ แทนเม็ดเลือดแดงที่ผิดปกติทางพันธุ์กรรม โรคไขกระดูกฝ่อ ทำได้โดยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือด ของพี่หรือน้อง หรือครอบครัวที่เข้ากันได้ มาแทนเซลล์ต้นกำเนิดเดิมของผู้ป่วยที่บกพร่อง หรือขาดหายไป กล่าวโดย นพ.วันชัย วนะชวนาวิน นายกสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย
ในปัจจุบัน มีโรคมะเร็งเม็ดบางชนิด ได้แก่ มะเร็งเลือดขาว โดยเฉพาะชนิดเฉียบพลัน โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ มะเร็งไขกระดูกชนิดมัลติเพิลมัยดิโลมา ที่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีนี้ ทำได้โดยปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้กับผู้ป่วย หลังจากที่ผู้ป่วยรักษาด้วยเคมีบำบัดจนเซลล์มะเร็งเหลือน้อยมาก และ ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากพี่หรือน้อง หรือ บางกรณีอาจเป็นเซลล์จากผู้ป่วยเอง เพื่อทดแทนสเต็มเซลล์เม็ดเลือดเดิมของผู้ป่วย ที่บกพร่องไปหลังจากให้ยาเคมีบำบัดขนาดสูงหรือการฉายแสง
สเต็มเซลล์ คือ เซลล์ที่แบ่งตัวเพิ่มได้ไม่จำกัด เป็นเซลล์ที่ยังไม่เจริญเป็นเซลล์เต็มวัย ซึ่งก็มีหลากหลายชนิด ในแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติที่ต่างกัน มีทำหน้าต่างกัน เช่น สเต็มเซลล์สมองสร้างเซลล์ประสาท สเต็มเซลล์ในไขกระดูกและสเต็มเซลล์ จากสายสะดือทารกสร้างเซลล์เม็ดเลือด โดยสเต็มเซลล์จากอวัยวะหนึ่ง ไม่สามารถสร้างเซลล์ของอีกอวัยวะหนึ่งได้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงมีการนำไปใช้ต่างกัน กล่าวโดย นพ.นิพัญจน์ อิศรเสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านสเต็มเซลล์ แพทยสภา

ทั้งนี้ การนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคมี 3 แนวทางใหญ่ ๆ
1. การปลูกสเต็ม และ ถ่ายเซลล์ เพื่อไปแทนที่สเต็มเซลล์เดิม ที่ไม่ทำงาน ในอวัยวะของร่างกาย ต้องมีการสร้างสเต็มเซลล์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สเต็มเซลล์ที่ปลูกถ่ายไปสร้างเซลล์ของอวัยวะนั้น ๆ ไปอีกหลายปี แต่เนื่องจากเทคนิคอวัยวะที่ปลูกถ่ายมีความจำกัด การรักษาที่เป็นมาตรฐานทั่วโลก จึงมีเพียงการนำเซลล์จากไขกระดูก ไปรักษาโรคระบบโลหิตวิทยาเท่านั้น
2. การนำเซลล์ เพื่อไปสร้างเป็นเซลล์เฉพาะก่อนนำมาปลูกถ่าย เช่น เซลล์ประสาท ที่สร้างสารโดปามีนสำหรับผู้ป่วยโรคพาห์กินสัน เซลล์ตับอ่อนที่หลั่งอินซูลินรักษาโรคเบาหวาน แต่ยังคงอยู่ในขั้นการทดลอง เนื่องจากข้อจำกัดทางคุณสมบัติ ของเซลล์ต้นกำเนิดร่างกายในอวัยวะต่าง ๆ ที่ไม่ครบทุกอวัยวะ ทำให้สร้างเซลล์ได้ไม่ครบทุกชนิด และเพิ่มจำนวนได้จำกัดในหลอดทดลอง
3.การปลูกเซลล์หวังให้เกิดการกระตุ้นการซ่อมแซมอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ยังไม่แสดงประสิทธิภาพมากเพียงพอ จึงยังไม่มีสมาคมทางการแพทย์ยอมรับการรักษาที่เป็นมาตรฐานนพ.นิพัญจน์ กล่าว “ในส่วนของการนำสเต็มเซลล์จากสัตว์มาใช้ในมนุษย์ ขณะนี้ร่างแพทยสภาฉบับเดิมยังไม่ได้มีการกำหนดถึงเรื่องนี้ มีเพียงการกำหนดในเรื่องการใช้สเต็มเซลล์จากมนุษย์ แต่อย่างไรก็ตามหากอ้างอิงตามข้อมูลวิชาการ สามารถพูดได้ว่าการนำสเต็มเซลล์จากสัตว์ มาใช้ในมนุษย์นั้น โอกาสได้ผลดีนั้นน้อยมาก เพราะเป็นที่ชัดเจนว่า การทดลองเอาสเต็มเซลล์จากสัตว์อื่น มาฉีดเข้าไปยังสมองหนูยังเกิดอาการอักเสบ ดังนั้น หากนำมาฉีด หรือปลูกถ่ายในร่างกายมนุษย์ โอกาสแพ้ หรือการทำลายเซลล์ที่คล้าย ความเสี่ยงจึงสูงมาก”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 7 กันยายน 2556

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

0
    0
    Your Cart
    Your cart is emptyReturn to Shop