ถาม-ตอบเรื่องสเต็มเซลล์ คุ้มจริงหรือไม่?

Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter

สเต็มเซลล์สามารถรักษาได้ทุกโรคจริงหรือ คำถามนี้ ศ. นพ.สุรเดช หงส์อิง ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัยด้านโรคเลือด โรคมะเร็งในเด็ก และการปลูกถ่ายไขกระดูกในเด็ก จาก โรงพยาบาลรามาธิบดี จะมาช่วยให้คำตอบให้เรา เข้าใจสเต็มเซลล์อย่างถูกต้องและไม่หลงทางกัน

ถาม : มีประเด็นใดบ้างเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ที่คนทั่วไปควรรู้
ตอบ : สิ่งที่เรามักเข้าใจคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับสเต็มเซลล์คือ สเต็มเซลล์เหมือนกันหมดและสามารถรักษาได้ทุกโรค โดย สเต็มเซลล์ที่นำมาใช้ได้ในปัจจุบันก็คือ สเต็มเซลล์เม็ดเลือด ใช้สำหรับนำไปรักษาโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น ซึ่งสเต็มเซลล์เม็ดเลือด ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยสเต็มเซลล์ที่มีอยู่ในร่างกายของเรานั่นเองคุณหมอสุรเดชอธิบายเพิ่มเติมว่า สเต็มเซลล์แบ่งได้ 2 ประเภทใหญ่ ๆ ดังนี้
1. สเต็มเซลล์ จากตัวอ่อน (Embryonic Stem Cells) คือ การดึงเซลล์จากตัวอ่อน อายุไม่เกิน 2 สัปดาห์มาใช้ สเต็มเซลล์ชนิดนี้มีคุณสมบัติที่ดีมาก คือ สามารถพัฒนากลายเป็น เซลล์อวัยวะ หรือระบบอะไรก็ได้ในร่างกาย แต่ก็สามารถกลายเป็น เนื้องอกได้ด้วยเช่นกัน เพราะไม่สามารถกำหนดได้ว่า จะให้กลายเป็นอวัยวะใด ดังนั้นการนำมาใช้ในคนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย และไม่มีผลสำเร็จใดๆ ยืนยันทั้งสิ้น รวมถึง ยังเป็นข้อถกเถียงทางด้านจริยธรรมอยู่
2. สเต็มเซลล์ จากตัวโตเต็มวัย (Adult Stem Cells) คือ สเต็มเซลล์จากทารก ในครรภ์ที่อายุเกิน 2 สัปดาห์แล้ว ไปจนถึงผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ โดยเป็นเซลล์ที่เฉพาะเจาะจง ประจำอวัยวะ หรือระบบนั้นๆแล้ว เช่น สเต็มเซลล์สมอง สเต็มเซลล์หัวใจ สเต็มเซลล์ปอด สเต็มเซลล์เม็ดเลือด เป็นต้น ซึ่งหากต้องการจะใช้รักษาอวัยวะใดก็ต้องนำสเต็มเซลล์จากอวัยวะนั้น ๆ มาใช้สรุปแล้ว สเต็มเซลล์ที่สามารถนำมารักษาคนไข้ได้ และประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ มีเพียงสเต็มเซลล์เดียวคือ สเต็มเซลล์เม็ดเลือดที่มาจากสเต็มเซลล์ตัวโตเต็มวัย และนำมารักษาโรคทางโลหิตวิทยาได้เท่านั้น

ถาม : แต่ก็มีข่าวการนำสเต็มเซลล์เม็ดเลือดไปปลูกถ่ายอวัยวะและใช้รักษาโรคอื่นๆอยู่เสมอ
ตอบ : ในช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ มีการทดลองนำสเต็มเซลล์เม็ดเลือดไปเลี้ยงในหลอดทดลองให้กลายเป็นสเต็มเซลล์อวัยวะอื่นๆ เช่น สมอง หัวใจ เป็นต้น จนประสบผลสำเร็จ จึงเกิดความฮือฮาขึ้นมาว่า สามารถนำสเต็มเซลล์มารักษาอวัยวะที่เสียหาย และรักษาทุกโรคได้ แต่คุณหมอให้ข้อสังเกตว่า การทำการทดลองในหลอดทดลองหรือกับสัตว์ เราสามารถกำหนด ให้เป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น แต่โอกาสที่จะนำมาใช้และประสบความสำเร็จในคนนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย และทุกๆอย่างยังอยู่ในขั้นตอนของการทดลองและวิจัยเท่านั้น

ถาม : ถ้าอย่างนั้น เราจะสามารถดึงสเต็มเซลล์จากอวัยวะที่ต้องการ มารักษาอวัยวะที่เราเสียไปได้หรือไม่
ตอบ : การจะนำสเต็มเซลล์จากอวัยวะอื่นๆ จากตัวโตเต็มวัยนั้น ทำได้ยากมาก เช่น หากเราต้องการสเต็มเซลล์จากสมอง เราก็ต้องเจาะสมอง หากต้องการสเต็มเซลล์จากตับ ก็ต้องเจาะตับ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้มีผู้มาบริจาค หรือแม้แต่การไปดึงสเต็มเซลล์จากทารก ที่แท้งในครรภ์ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะผิดหลักจริยธรรม

ถาม : ที่มีการพูดถึงการเก็บสเต็มเซลล์คืออะไรคะ เช่น เก็บไว้ให้ลูก เก็บไว้รักษาตัวเอง
ตอบ : การเก็บสเต็มเซลล์ เพื่อเอาไว้ให้ลูกหรือตัวเองใช้รักษาโรค ก็คือ การเก็บจากเลือดนั่นเอง อย่างที่คุณหมออธิบายมาแล้วว่า สเต็มเซลล์เม็ดเลือด ก็ต้องกลายเป็นเม็ดเลือด ไม่เหมาะไปรักษาอวัยวะอื่น ๆ ดังนั้นการเก็บเพื่อให้ตัวเองหรือลูกจึงไม่มีประโยชน์ เพราะโอกาสจะเอาไปใช้น้อยมาก คุณหมอสุรเดชจึงยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า “สมมติว่าลูกของเราเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว การจะนำสเต็มเซลล์ของลูกมาใช้นั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว คือ ต้องปลูกถ่ายเซลล์คนอื่นมากินเซลล์มะเร็งของตัวเอง อีกทั้งเด็กทุกคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อเอาเลือดจากรกไปตรวจดู ก็จะพบเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีทางเลย ที่จะเอาเลือดตัวเองมารักษาได้ และถึงแม้ตอนนี้ทั่วโลก จะการเก็บสเต็มเซลล์กันอยู่ แต่ถามว่าตอนนี้มีโอกาสได้ใช้หรือไม่ คำตอบคือยังไม่มีเลย”

ถาม : ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภค ควรพิจารณาเรื่องการเก็บสเต็มเซลล์อย่างไรบ้าง
การเก็บสเต็มเซลล์จากรก หรือจากสายสะดือนั้น ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคเราควรพิจารณาให้รอบด้าน เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ศึกษาข้อมูลให้ดีๆ สอบถามรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน และรู้จุดประสงค์ของการเก็บ เพราะสุดท้ายเลือดจากสายสะดือหรือรกที่เก็บไปนั้นเป็นการเก็บเพื่อรักษาคนอื่น ไม่ใช่ของตัวเองคุณหมอสุรเดชกล่าวสรุปปิดท้ายว่า “หากมีเงินพอที่จะเก็บก็สามารถเก็บได้ ถือว่าเป็นการซื้องานวิจัยในอนาคต เพียงแต่ ณ ปัจจุบันยังไม่ถึงเวลา ส่วนใครที่ถึงกับต้องกู้หนี้ยืมสินนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาได้ อีกอย่างหนึ่ง ในอีก 10 – 20 ปี ข้างหน้านี้ เราก็อาจมีวิทยาการใหม่ๆที่ง่ายกว่า สะดวกกว่า และไม่จำเป็นต้องใช้วิธีนี้แล้วก็เป็นได้”

ขอบคุณข้อมูลจาก sanook.com

บทความอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

0
    0
    Your Cart
    Your cart is emptyReturn to Shop